Diabetes Health Updated: Wed, 08 May 2024 01:37:58 GMT

การใช้ยาของผู้ป่วยเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นโรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ในปริมาณที่สูงพอที่จะจัดการเก็บน้ำตาลจากเลือดเข้าเซลล์เพื่อทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดกลับสู่ค่าปกติ ผู้ป่วยจึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด แต่ก็สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ โดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และใช้ยา เพียงเท่านี้ผู้ป่วยก็จะมีชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขเหมือนคนทั่วไป ในเรื่องการใช้ยา มียาอยู่ 2 ประเภทได้แก่ ยารับประทาน และยาฉีดอินซูลิน

ยารักษาโรคเบาหวานยังแบ่งออกได้อีก 3 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มที่ 1 ยาที่กระตุ้นการทำงานของตับอ่อนให้สร้างอินซูลิน
  • กลุ่มที่ 2 กลุ่มยาที่ส่งเสริมการทำงานของอินซูลิน โดยลดการสร้างน้ำตาลจากตับและทำให้น้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้มากขึ้น
  • กลุ่มที่ 3 ยาที่ขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด

ยาทั้ง 3 กลุ่มมีวิธีรับประทานต่างกันไป บางชนิดต้องรับประทานก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง บางชนิดต้องรับประทานพร้อมอาหารและ บางชนิดต้องรับประทานหลังอาหาร อย่างไรก็ตาม ข้อที่สำคัญคือ การรับประทานยาจะต้องตรงเวลา และไม่ขาดยา

ประเภทของยารักษาเบาหวาน

ยารับประทาน

1.Metformin

  • ข้อดี: เป็นยาตัวแรกที่มักถูกเลือกใช้ เพราะเป็นยากิน ลดน้ำตาลได้ดี ไม่ค่อยทำให้มีอาการน้ำตาลตก ราคาถูก ไม่ทำให้อ้วนเพิ่มขึ้น
  • ข้อเสีย: ห้ามใช้ในผู้ที่มีไตเสื่อมมากแล้ว คือการกรอง(eGFR) < 30 ml/min/1.73m2 (ไตวายระยะ 4–5 ห้ามใช้) ใช้นานๆอาจเกิดการขาดวิตามินบี 12 ได้
  • เหมาะกับใคร: เบาหวาน อ้วน มีค่าการกรองของไต (eGFR) เกิน 30 ml/min/1.73m2 (ไตระยะ 1–3 ใช้ได้)

2.Sulfonylurea เช่น glipizide, glibenclamide

  • ข้อดี: ยากลุ่มนี้ก็ใช้บ่อยมาก เพราะลดน้ำตาลได้ดี เหมาะกับผู้ที่เริ่มต้นมีน้ำตาลสูงมากๆ ราคาถูก
  • ข้อเสีย: น้ำหนักเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำตาลตกได้บ่อย
  • เหมาะกับใคร: เบาหวาน เริ่มต้นมีน้ำตาลสูงมากๆ ใช้ได้กับไตเรื้อรังทุกระยะ

3.Thiazolidinediones เช่น pioglitazone

  • ข้อดี: ลดน้ำตาลได้ดี
  • ข้อเสีย: น้ำหนักเพิ่มขึ้น ทำให้บวมได้ เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมปอด จึงไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยโรคไต
  • เหมาะกับใคร: เบาหวานที่ยังคุมน้ำตาลไม่ได้

4.DPP4inhibitor เช่น Linagliptin, Vildagliptin, Sitagliptin

  • ข้อดี: ช่วยลดโปรตีนรั่วในปัสสาวะจากเบาหวานลงไต และไม่ทำให้น้ำหนักขึ้น สามารถใช้ได้กับไตเรื้อรังทุกระยะ โดยไม่ทำให้น้ำตาลตก
  • ข้อเสีย: ราคาแพง
  • เหมาะกับใคร: เบาหวาน ไม่อยากอ้วน มีน้ำตาลตกบ่อยๆ ใช้ได้กับไตเรื้อรังทุกระยะ

5.GLP1RA เช่น Liraglutide, Semaglutide , Dulaglutide

  • ข้อดี: เป็นยาอีกตัวที่น่าสนใจมาก ลดน้ำตาลได้ดี ช่วยลดโปรตีนรั่วในปัสสาวะจากเบาหวานลงไต ช่วยลดน้ำหนักได้เลยมีหลายคลินิคเอาไปเป็นยาลดน้ำหนัก
  • ข้อเสีย: เป็นยาฉีด แต่ปัจจุบันเริ่มพัฒนายากินออกมาแล้วบางรุ่นค่ะ ราคาแพง อาจมีคลื่นไส้อาเจียนได้ถ้าปรับยาเร็วเกินไป
  • เหมาะกับใคร: เบาหวาน อ้วน มีค่าการกรองของไต (eGFR) เกิน 15 ml/min/1.73m2 (ไตระยะ 1–4 ใช้ได้) มีโรคหัวใจขาดเลือดแทรกซ้อน

6.SGLT2inhibitor เช่น Dapaglifozin, Empaglifozin, Canaglifozin

  • ข้อดี: ปัจจุบันมาแรงมาก เพราะเป็นยาใหม่ที่มีผลงานวิจัยรองรับว่าช่วยลดโปรตีนรั่วในปัสสาวะจากเบาหวานลงไต อีกทั้งยังช่วยชะลอไตเสื่อมได้ด้วย ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์หลักๆ 2 ส่วน คือ (1) ขับน้ำตาลออกทางปัสสาวะ ทำให้ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ และเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะด้วย (2) ขับเกลือโซเดียมออกทางปัสสาวะ ทำให้ช่วยลดความดันลงได้ ลดอาการบวมน้ำ ช่วยให้หัวใจโตลดลง ด้วยฤทธิ์ของยาที่บอกมาทั้งหมด ปัจจุบันเป็นยาที่ดีมากๆตัวนึงที่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเรียกว่ายารักษาไต หรือยาชะลอไตเสื่อมนั่นเอง
  • ข้อเสีย: ยามีราคาแพง ยังเบิกไม่ได้ เพิ่มโอกาสการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะถ้ารักษาความสะอาดไม่ดี
  • เหมาะกับใคร: เบาหวาน มีค่าการกรองของไต (eGFR) เกิน 30 ml/min/1.73m2 (ไตระยะ 1–3 ใช้ได้) มีโรคหัวใจแทรกซ้อน
  • ข้อควรระวัง: ควรหยุดยาในช่วงที่ป่วยหนัก กินไม่ค่อยได้ ผ่าตัดใหญ่ เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะน๊อคน้ำตาลได้

ยาฉีดอินซูลิน

7.Insulin ยาฉีดอินซูลิน

  • ข้อดี: ลดน้ำตาลได้ดี
  • ข้อเสีย: น้ำตาลตกบ่อย ทำให้อ้วน
  • เหมาะกับใคร: เบาหวาน ที่ใช้ยามาทุกขนานแล้วยังคุมไม่ได้ ผู้ที่มีป่วยหนักหรือต้องงดอาหารทางปาก ใช้ได้กับโรคไตเรื้อรังทุกระยะ

ข้อบ่งชี้การรักษาด้วยยาฉีดอินซูลิน

การรักษาเบาหวานด้วยยาฉีดอินซูลินมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน ได้แก่

  1. เป็นเบาหวานชนิดที่ 1
  2. เกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลัน มีภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตน (diabetic ketoacidosis) หรือภาวะเลือดข้นจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงมาก (hypersmolar hyperglycemic state)
  3. เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีปัญหาต่อไปนี้- ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมาก
    - ใช้ยาเม็ดรับประทาน 2–3 ชนิด ในขนาดสูงสุดแล้วควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้
    - อยู่ในภาวะผิดปกติ เช่น การติดเชื้อรุนแรง อุบัติเหตุนแรง และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงรวมทั้งภาวะขาดอาหาร (malnutrition)
    - ระหว่างการผ่าตัด การตั้งครรภ์
    - มีความผิดปกติของตับและไตที่มีผลต่อยา
    - แพ้ยาเม็ดรับประทาน
  4. เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยการปรับพฤติกรรม
  5. เป็นเบาหวานจากตับอ่อนถูกทำลาย เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ถูกตัดตับอ่อน

การเก็บรักษายา Insulin

  • อินซูลินยังไม่ได้เปิดใช้ หากเก็บที่อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส เก็บได้นานเท่ากับอายุข้างขวด
  • สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง ประมาณ 25 องศาเซลเซียส ได้นานประมาณ 30 วัน
  • ห้ามเก็บไว้ในอุณหภูมิสูง เช่น กลางแดด หรืออุณหภูมิต่ำมาๆในห้องแช่แข็งตู้เย็น
  • ห้ามเก็บที่ฝาตู้เย็น
  • อินซูลินที่เปิดใช้แล้ว และจะเก็บอยู่ในปากกาฉีดอินซูลิน สามารถเก็บที่อุณหภูมิห้อง 25 องศาเซลเซียส ได้นานประมาณ 30 วัน

นอกจากยารับประทานลดระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ยาฉีดอินซูลินก็เป็นยาที่ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด ใช้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณต้นขา หรือหน้าท้อง วันละ 1–4 ครั้งก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง ควรหมุนเวียนเปลี่ยนที่ฉีดเข้าใต้ผิวหนังแทนการฉีดซ้ำที่เดิมแต่ยังคงอยู่ในบริเวณผิวหนังเดียวกัน เช่น ฉีดบริเวณต้นขา ก็เปลี่ยนตำแหน่งแทงเข็มโดยให้ยังคงอยู่ที่บริเวณต้นขา

อินซูลินมีทั้งชนิดที่เป็นน้ำใสและน้ำขุ่น หากต้องใช้ทั้ง 2 ชนิด ผู้ป่วยต้องใช้กระบอกฉีดยาดูดอินซูลินชนิดน้ำใสก่อน แล้วจึงดูดยาอินซูลินชนิดน้ำขุ่น เข้ามาผสมในกระบอกฉีดยาเดียวกัน จากนั้นจึงนำไปฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ข้อสำคัญคือ อินซูลินที่ยังไม่เปิดใช้ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นที่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง เมื่อจะใช้จึงนำออกมาจากตู้เย็น และนำไปคลึงระหว่างฝ่ามือทั้งสองข้างเพื่อให้อินซูลินอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิกาย ก่อนนำไปฉีด ดังนั้นถ้าไปโรงพยาบาลและรับยาฉีดอินซูลินจึงต้องแช่ในกระติกน้ำแข็งระหว่างเดินทางจากโรงพยาบาลกลับมาบ้าน เพราะยาฉีดอินซูลินหากโดนความร้อนจัดจะเสื่อมสภาพและใช้ไม่ได้อีกต่อไป สำหรับอินซูลินที่เปิดใช้แล้วสามารถวางไว้นอกตู้เย็นได้หากอุณหภูมิไม่สูงมาก แต่ต้องใช้ขวดนั้นให้หมดภายใน 30 วัน

ด้วยเหตุที่ผู้ป่วยต้องฉีดอินซูลินทุกวัน จึงมีการพัฒนารูปแบบยาฉีดอินสุลินให้อยู่ในกระบอกฉีดยาสำเร็จรูปที่มีหน้าตาคล้ายปากกา หลอดยาบรรจุอินซูลินมีปริมาตร 3 ซีซี จะติดอยู่ในปากกา ผู้ป่วยเพียงเปลี่ยนเข็มฉีดยาใหม่ทุกครั้งก่อนฉีด และไม่จำเป็นต้องเก็บปากกาอินซูลินไว้ในตู้เย็นเนื่องจากปริมาณอินซูลินในปากกาไม่มาก สามารถใช้ได้หมดภายในเวลาประมาณ 7–10 วันหรือไม่เกิน 1 เดือน นอกจากนี้ยังสะดวกในการพกพาติดตัวอีกด้วย อย่างไรก็ตามต้องไม่ทิ้งปากกาอินซูลินไว้ในรถที่จอดกลางแดด เพราะจะทำให้อินสุลินเสื่อมสภาพได้

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยในผู้ที่ใช้ยาเบาหวาน อาการที่พบได้เมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่ หน้ามืด เวียนศีรษะ มือสั่น ใจสั่น เหงื่อออกมาก ตาพร่า หากผู้ป่วยเกิดอาการเหล่านี้ควรดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยการอมลูกอม 3 เม็ด หรือดื่มน้ำหวาน (ชงน้ำหวานเข้มข้น 2 ช้อนโต๊ะกับน้ำ 120 ซีซี) หรือดื่มน้ำผลไม้ 1 กล่องเล็ก ผู้ป่วยเบาหวานอาจพกลูกอมติดตัว เพื่อที่จะสามารถแก้ไขภาวะน้ำตาลต่ำได้ทันท่วงที

การป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

  • ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรงดอาหาร
  • หากรับประทานอาหารได้น้อยลงควรปรึกษาแพทย์
  • ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมหรือหนักเกินไป
  • ไม่ควรซื้อสมุนไพรอาหารเสริมเพื่อลดน้ำตาลมารับประทานเอง
  • ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรปรับขนาดยาเอง

การรับประทานยาและฉีดยาอินซูลิน ในกรณีที่รับประทานอาหารในแต่ละมื้อได้น้อย ควรงดใช้ยาเบาหวานไปก่อน เพราะจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ อาจจะหมดสติและเสียชีวิตได้ และหากเกิดอาการผิดปกติหรือเกิดผื่นขึ้นตามร่างกาย หน้าบวม ตาบวม หรืออาการที่สงสัยว่าแพ้ยาให้หยุดยาและรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

การรับประทานยาและฉีดยาอินซูลิน ในกรณีที่รับประทานอาหารในแต่ละมื้อได้น้อย ควรงดใช้ยาเบาหวานไปก่อน เพราะจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ อาจจะหมดสติและเสียชีวิตได้

ดังนั้น ในผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยาประเภทยารับประทานและยาฉีด ซึ่งต้องดูความเหมาะสมแต่ละบุคคลในการใช้ยาเบาหวานซึ่งควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทาน พร้อมทั้งต้องดูแลสุขภาพตนเองโดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการจัดการความเครียด ทำให้สามารควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ เพียงเท่านี้ผู้ป่วยก็จะมีชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขเหมือนคนทั่วไป

แหล่งอ้างอิง/ที่มา

  • ยารักษาโรคเบาหวานใช้อย่างไร — คณะเภสัชฯ มหิดล

ยารักษาโรคเบาหวาน ใช้อย่างไร | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล


การใช้ยาของผู้ป่วยเบาหวาน was originally published in ckartisan on Medium, where people are continuing the conversation by highlighting and responding to this story.