การออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานควรออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพที่ดีและยังได้ประโยชน์ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ความดันโลหิต รวมทั้งน้ำหนักตัว นอกจากนี้ทำให้ผ่อนคลาย ลดความเครียดและความกังวลได้
ผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ลดระดับน้ำตาลในเลือดและระดับน้ำตาลสะสม
- เพิ่มความแข็งแรงของระบบหัวใจหลอดเลือด และกล้ามเนื้อหัวใจ
- ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดี
- ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ และสมอง
- ลดระดับไขมันและความดันโลหิต
- ลดปริมาณไขมันในช่องท้องและใต้ผิวหนัง
- เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
- ช่วยควบคุมน้ำหนัก และลดน้ำหนัก
- ลดความเครียดอ้างอิง
ข้อควรระวัง
- ตรวจเท้าตัวเองทุกครั้งก่อนและหลังออกกำลังกายเสร็จ
- สวมรองเท้าให้พอดีไม่คับเกินไป และเหมาะสมกับกีฬา
- ควรพกน้ำตาลหรือของหวานติดตัวขณะออกกำลังกาย เพื่อป้องกันกรณีมีน้ำตาลในเลือดต่ำ
- หากมีอาการผิดปกติให้หยุดออกกำลังกาย
- ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ได้ ไม่ควรออกกำลังกาย
ผู้ป่วยเบาหวานควรออกกำลังกายแบบไหน?
การออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย การออกกำลังกายที่แนะนำ ได้แก่
- ออกกำลังกายแบบแอโรบิค เป็นกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อเนื่องโดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ และเล็ก เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน รำมวยจีน เป็นต้น จะช่วยทำให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญพลังงานมากขึ้น กระตุ้นระบบไหลเวียนของหัวใจและปอด ทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ แข็งแรงขึ้น
- ออกกำลังกล้ามเนื้อ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น ยกน้ำหนัก เกร็งกล้ามเนื้อ โดยเลือกกล้ามเนื้อมัดใหญ่
ควรใช้เวลาในการออกกำลังกายประมาณ 20–60 นาที 3–5 วันต่อสัปดาห์ ข้อแนะนำคือ ควรออกกำลังกายวันเว้นวัน เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาพักปรับตัวและฟื้นตัวจากการเมื่อยล้า
แต่ถ้าต้องการออกกำลังกายทุกวัน ควรลดเวลาให้เหลือเพียง 30–40 นาทีต่อวัน
ท่าบริหาร ในผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่จะมีอาการชามือและเท้า จึงควรบริหารเพิ่มความแข็งแรงและช่วยลดอาการชาได้ โดยมีท่าบริหารเท้าดังนี้
ท่าที่ 1 นอนยกเท้าสูงจากพื้นเล็กน้อย กระดกปลายเท้าขึ้น-ลง พร้อมกันสองข้าง 20 ครั้ง
ท่าที่ 2 กระดกนิ้วเท้าขึ้น-ลง พร้อมกันสองข้าง 20 ครั้ง
ท่าที่ 3 หมุนข้อเท้าเข้า-ออกสลับกัน อย่างละ 20 ครั้ง
ท่าที่ 4 ยืนกางขาเล็กน้อย เท้าด้านหนึ่งยกส้นเท้าลอย วางปลายเท้าติดพื้น หมุนส้นเท้าเข้า-ออกเป็นวงกลม ทำสลับกันสองข้าง ข้างละ 20 ครั้ง
ท่าที่ 5 ยืนวางเท้าลงบนผ้าขนหนู แล้วใช้ปลายนิ้วเท้าหยิบผ้าขนหนูขึ้น ทำสลับกันสองข้าง ข้างละ 20 ครั้ง
การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีสุขภาพที่ดี สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย
อ้างอิง
- ออกกำลังกายในเบาหวานอย่างไรให้ปลอดภัย
ออกกำลังกายในเบาหวานอย่างไรให้ปลอดภัย
- โรงพยาบาลขอนแก่นราม. การออกกำลังกายทางกายภาพบำบัด ในผู้ป่วยเบาหวาน. ค้นเมื่อ 4 เมษายน 2567 จากเว็ปไซต์
การออกกำลังกายทางกายภาพบำบัด ในผู้ป่วยเบาหวาน | โรงพยาบาลขอนแก่นราม
การออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวาน was originally published in ckartisan on Medium, where people are continuing the conversation by highlighting and responding to this story.