Diabetes Health Updated: Sat, 04 May 2024 05:27:12 GMT

อาหารสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน

โรคเบาหวาน โรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อผู้คนทั่วโลก กลายเป็นปัญหาสุขภาพที่ท้าทายผู้ป่วย ครอบครัว และบุคลากรทางการแพทย์ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจึงเป็นสิ่งสำคัญ การทานอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เปรียบเสมือนเข็มทิศนำทางสู่วิถีชีวิตที่สมดุล ควบคู่ไปกับการรักษา อาหาร เปรียบเสมือน “ยา” ชนิดพิเศษ ที่ช่วยบำรุงร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และชะลอภาวะแทรกซ้อน มาเริ่มต้น เรียนรู้หลักการโภชนาการ และค้นพบตัวเลือกอาหาร “ดีต่อสุขภาพ” ที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อร่วมสร้างรากฐานสู่สุขภาพที่ดี

หลักการในการจัดการด้านโภชนาการในผู้ที่เป็นเบาหวาน

1. กินอาหารให้ตรงเวลา และวันละ 3 มื้อ ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันทุกมื้อทุกวัน ไม่งดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง และไม่กินจุบจิบ

2. กินอาหารครบ 6 หมวด ได้แก่ ข้าว/แป้ง เนื้อสัตว์ ไขมัน ผัก ผลไม้ และนมไขมันต่ำในปริมาณที่พอเหมาะ

3. หลีกเลี่ยงขนม ของหวาน น้ำหวาน น้ำตาล น้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำผึ้ง ถ้าชอบหวานให้ใช้น้ำตาลเทียมแทน

4. หลีกเลี่ยงเหล้า เบียร์ ไวน์ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด และเครื่องดื่มบำรุงกำลัง

5. ควรงดหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม/ อาหารที่มีโซเดียมสูง ได้แก่ เกลือ น้ำปลา ซอส ผงปรุงรส ผงชูรส น้ำมันหอย ผงฟู ปลากระป๋อง ปะหมี่สำเร็จรูป และอาหารหมักดอง เป็นต้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคไตและความดันโลหิตสูง

อาหารแลกเปลี่ยนคืออะไร?

อาหารแลกเปลี่ยน คือ อาหารที่แบ่งออกเป็นทั้งหมด 6 หมวด โดยในหมวดเดียวกันให้พลังงาน และสารอาหารที่ใกล้เคียงกัน อาหารในหมวดเดียวกันหรือต่างกันสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ หากมีสารอาหารและพลังงานที่ใกล้เคียงกัน หน่วยนับอาหารในรายการอาหารแลกเปลี่ยน เรียกว่า “ส่วน” ซึ่งแต่ละส่วนจะมีปริมาณอาหารแตกต่างกันตามหมวดอาหารนั้นๆ

ประโยชน์ของรายการอาหารแลกเปลี่ยน

  • เลือกรับประทานอาหารได้หลากหลายขึ้น
  • วางแผนและควบคุมการรับประทานอาหารของตนเองได้

ปริมาณอาหารที่ควรรับประทานใน 1 วัน

  • กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี — ควรรับประทาน 1,200–1,400 กิโลแคลอรี่
  • กลุ่มเด็กอายุ 6–13 ปี, กลุ่มผู้หญิงวัยทำงานอายุ 25–60 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป — ควรรับประทาน 1,600–1,800 กิโลแคลอรี่
  • กลุ่มวัยรุ่นอายุ 14–25 ปี และกลุ่มผู้ชายวัยทำงานอายุ 25–60 ปี — ควรรับประทาน 2.000 กิโลแคลอรี่

อ้างอิงจาก : สำนักโภชนาการ กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข

โดยแบ่งเป็นกลุ่มอาหารต่างๆ ดังนี้

[1] หมวดข้าว — แป้ง (Rice & Flour)

ข้าวขาว 1 ส่วน เท่ากับ 1 ทัพพี (โดยประมาณ มีคาร์โบไฮเดรต 18 กรัม โปรตีน 2 กรัม ไม่มีไขมัน ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี่

คำแนะนำในหมวดข้าว — แป้ง สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

  1. ควรรับประทานเป็นข้าวกล้อง ข้าวไม่ขัดสี ขนมปังโฮลวีต แทนข้าวขาว หรือข้าวเหนียว ** สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง แนะนำให้รับประทานเป็นข้าวขาว เนื่องจากข้าวกล้องมีฟอสฟอรัสสูง
  2. หากรับประทานวุ้นเส้น เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ข้าวโพด เผือก มัน ฟักทอง ต้องแลกเปลี่ยนกับอาหารที่รับประทานในมื้อหลัก
  3. หลีกเลี่ยงซีเรียลเคลือบน้ำตาล ขนมอบ ของหวาน เบเกอรี่ ขนมไทย

[2] หมวดผลไม้ (Fruit)

ผลไม้ 1 ส่วน เท่ากับ 1 กำปั้นมื้อ/จานเล็ก โดยมีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม พลังงาน 60 กิโลแคลอรี่ แบ่งได้ 6 ประเภท ดังรูป

คำแนะนำในหมวดผลไม้ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

  1. แนะนำให้รับประทานมื้อละ 1 ส่วน (จานเล็ก) ใน 1 วัน รับประทานได้ 3 มื้อ
  2. น้ำผลไม้ ควรเป็นน้ำผลไม้ที่คั้นแล้วไม่เติมน้ำตาล และแลกเปลี่ยนกับผลไม้สดปริมาณ 1 ส่วน เช่น น้ำส้ม 1/2 ถ้วยตวง (120 มิลลิลิตร)
  3. หลีกเลี่ยงผลไม้เชื่อม ผลไม้อบแห้ง ผลไม้กวน ผลไม้บรรจุกระป้อง และควรหลีกเลี่ยงเครื่องจิ้มผลไม้ เช่น น้ำตาล เกลือ น้ำปลาหวาน

[3] หมวดผัก (Vegetable)

ผักต่างๆ 1 ส่วน เท่ากับ ผักสุก 1 ทัพพี / ผักดิบ 2 ทัพพี แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • ประเภท ก. ผักที่ให้พลังงานต่ำมาก (ไม่คิดพลังงาน ได้แก่ ผักกาดขาว, ผักกาดสลัด, กเขียว, มะเขือยาว, สายบัว, ขิงอ่อน, ผักกวางตุ้ง, แตงกวา, บวบ, ใบกะเพรา และมะเขือเทศสีดา
  • ประเภท ข. 1 ส่วน มีคาร์โบไฮเดรต 5 กรัม โปรตีน 2 กรัม ไม่มีไขมัน ให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี ได้แก่ ถั่วฝักยาว, ดอกแค, แครอท, เห็ดฟาง, มะเขือเปราะ, ดอกกะหล่ำ, ข้าวโพดอ่อน, ผักกระเฉด, หน่อไม้, บรอกโคลี, ถั่วงอก และมะละกอดิบ

คำแนะนำในหมวดผัก สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

  1. แนะนำให้รับประทานผักเพิ่มมากขึ้น เน้นผักที่ไม่ใช่พืชหัว เพื่อเป็นการเพิ่มใยอาหาร
  2. เน้นเพิ่มเมนูผักในอาหารแทนการดื่มน้ำผักคั้น/สกัด/แยกกาก

[4] หมวดเนื้อสัตว์ (Meat)

เนื้อสัตว์ 1 ส่วน เท่ากับ เนื้อสุก 30 กรัม หรือ 2 ช้อนกินข้าว ไม่มีคาร์โบไฮเดรต มีโปรตีน 7 กรัม และไขมัน แบ่งตามชนิดเนื้อสัตว์ มีสารอาหารและพลังงาน ดังนี้

  • ชนิดที่ 1 เนื้อสัตว์ไขมันต่ำมาก 1 ส่วน โปรตีน 7 กรัม ไขมัน 0–1 กรัม ให้พลังงาน 35 กิโลแคลอรี่ ได้แก่ — กุ้ง (ตัวกลาง) เนื้อปลา เนื้ออกไก่ ไข่ขาว ปลาทู
  • ชนิดที่ 2 เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ 1 ส่วน โปรตีน 7 กรัม ไขมัน 3 กรัม ให้พลังงาน 55 กิโลแคลอรี่ ได้แก่ — ลูกชิ้นหมูไก่ ยมถั่วเหลือง (ไม่หวาน)
  • ชนิดที่ 3 เนื้อสัตว์ไขมันปานกลาง 1 ส่วน โปรตีน 7 กรัม ไขมัน 5 กรัม ให้พลังงาน 75 กิโลแคลอรี่ ได้แก่ — ไข่ไก่ (ทั้งฟอง) 1 ฟอง เต้าหูแข็ง 1/2 แผ่น เต้าหู้อ่อน 2/3 หลอด หมูเนื้อแดง เนื้อวัว
  • ชนิดที่ 4 เนื้อสัตว์ไขมันปานสูง 1 ส่วน โปรตีน 7 กรัม ไขมัน 8 กรัม ให้พลังงาน 100 กิโลแคลอรี่ ได้แก่ — หมูสับ 5–6 ก้อน ไส้กรอก กุนเชียง หมูยอ แฮม 1 แผ่น ซี่โครงหมู

คำแนะนำในหมวดเนื้อสัตว์ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

  1. แนะนำรับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และไม่ติดหนัง
  2. แนะนำรับประทานไข่ไม่เกิน 1 ฟอง/วัน แต่หากผู้ป่วยมีไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง แนะนำหลีกเลี่ยงไข่แดง หรือทานไข่ได้ 2–3 ฟอง/สัปดาห์
  3. ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน และมีโรคไตร่วมด้วยแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือนักกำหนดอาหารเพื่อสอบถามเกี่ยวกับปริมาณโปรตีนที่เหมาะสมในการรับประทาน

[5] หมวดน้ำมัน (Oil)

น้ำมัน 1 ส่วน เท่ากับ ไม่มีคาโบไฮเดรตและโปรตีน มีไขมัน 5 กรัม ให้พลังงาน 45 กิโลแคลอรี่ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้

  • ชนิดที่ 1 น้ำมันที่ให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (MUFA) 1 ส่วน ไขมัน 5 กรัม ให้พลังงาน 45 กิโลแคลอรี่ ได้แก่ น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง ถั่วลิสง งาขาว/งาดำ น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า เมล็ดมะม่วงหิมพานต์/อัลมอนด์
  • ชนิดที่ 2 น้ำมันที่ให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA) 1 ส่วน ไขมัน 5 กรัม ให้พลังงาน 45 กิโลแคลอรี่ ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด มายองเนส เมล็ดทานตะวัน เมล็ดถั่วเหลือง น้ำมันดอกคำฝอย/ดอกทานตะวัน
  • ชนิดที่ 3 น้ำมันที่ให้กรดไขมันไม่อิ่มตัว (SATURATED FATTY ACID) 1 ส่วน ไขมัน 5 กรัม ให้พลังงาน 45 กิโลแคลอรี่ ได้แก่ น้ำมันหมูไก่ น้ำมันวัว เนื้อมะพร้าวขูด เบคอน เนยสด/เนยขาว ครีมสด น้ำมันปาล์ม กะทิ

คำแนะนำในหมวดน้ำมัน สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

  1. แนะนำให้ใช้น้ำมัน 6 ช้อนชา/วัน โดยเลือกใช้น้ำมันถั่วเหลือง หรือน้ำมันรำข้าวในการประกอบอาหาร
  2. เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อยเป็นส่วนประกอบ เช่น อาหารประเภทต้ม อบ นึ่ง ย่าง แทนการทอด ผัด
  3. หลีกเลี่ยงอาหารใส่กะทิ อาจตักรับประทานแค่เนื้อลดการชดน้ำลงเพื่อเป็นการลดรับน้ำมัน

[6] หมวดนม และผลิตภัณฑ์จากนม (Milk)

นม 1 ส่วน หรือนมที่มีปริมาณ 240 มิลลิลิตร

ปริมาณ 1 ส่วนของนมชนิดอื่นๆ

  • โยเกิร์ตรสธรรมชาติ 1 ถ้วยเล็ก (110 กรัม)
  • นมผง 4 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม)
  • นมปรุงแต่รส เช่น นมเปรี้ยว นมสตรอว์เบอร์รี่ จะมีการเติมน้ำตาลเพิ่ม

คำแนะนำในหมวดเนื้อสัตว์ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

  1. แนะนำเลือกดื่มนมรสจืดแบบพร่องมันเนย หรือขาดมันเนยแทนนมปรุงแต่งรส
  2. หากดื่มนมปรุงแต่งรส เช่น นมเปรี้ยว นมสตรอว์เบอร์รี่ แนะนำให้อ่านฉลากโภชนาการก่อนรับประทาน

ที่มา : https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/food-exchange

อ้างอิง

  • อาหารสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน — โรงพยาบาลศิริราช
  • สำนักโภชนาการ กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข
  • อาหารแลกเปลี่ยน

อาหารแลกเปลี่ยนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ( Food exchange )


อาหารสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน was originally published in ckartisan on Medium, where people are continuing the conversation by highlighting and responding to this story.