Diabetes Health Updated: Sat, 04 May 2024 05:26:56 GMT

ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus : DM) เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินหรือร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินมาใช้ประโยชน์เป็นผลให้เกิดความผิดปกติของการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน ก่อให้เกิดความผิดปกติของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย (WHO, 1997)

ประเภทของโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานตามสาเหตุของการเกิดโรค แบ่งเป็น 4 ชนิด ดังนี้ (Diabetes Association of Thailand, 2017)

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes mellitus, T1DM) หรือโรคเบาหวานในเด็ก (Juvenile onset Diabetes) เกิดจากการทำลายเบต้าเซลล์ที่ตับอ่อนจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ผลิตอินซูลินลดลง หรือไม่ผลิตเลยส่วนใหญ่พบในคนอายุน้อย ตั้งแต่ช่วงวัยเด็กเล็ก วัยเรียน วัยรุ่น จนถึงผู้ใหญ่ตอนต้น ผู้ป่วยส่วนมากผอม มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะฉุกเฉินจากน้ำตาลสูงและเลือดเป็นกรด เมื่อได้รับอินซูลินทดแทน อาการดีขึ้นจนปกติ โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องฉีดยาอินซูลินตลอดไป
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes mellitus, T2DM) เกิดจากการมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) ร่วมกับความบกพร่องในการผลิตอินซูลินที่เหมาะสม (relative insulin deficiency) หรือการผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ มักพบในคนอายุ 30 ปีขึ้นไป รูปร่างท้วมหรืออ้วน (ดัชนีมวลกายในคนเอเชีย 23 กก./ม.2) อาการมักไม่รุนแรงและค่อยเป็นค่อยไป มักมีประวัติโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในพ่อ แม่ หรือ พี่ น้อง โดยที่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดนี้พบมากเมื่อมีอายุสูงขึ้น มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น การขาดการออกกำลังกาย และพบมากขึ้นในหญิงที่มีประวัติการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus, GDM) เกิดจากการที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ มีปัจจัยจากรกและตับอ่อนของมารดาไม่สามารถผลิตอินซูลินให้เพียงพอกับความต้องการได้สามารถตรวจพบจากการทำ oral glucose tolerance test (OGTT) ในหญิงตั้งครรภ์โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์นี้มักจะหายไปหลังคลอด
  • โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ (specific types of diabetes due to other causes) มีสาเหตุที่ชัดเจน เช่น โรคเบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น MODY (Maturity-Onset Diabetes of the Young) โรคเบาหวานจากโรคของตับอ่อน ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ จากยา จากการติดเชื้อ และจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

อาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาการของโรคมักเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรืออาจไม่ปรากฏอาการเลยก็ ได้ การวินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นจะทำได้จากการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด โดยถ้ามีระดับ น้ำตาลในเลือดสูงกว่าระดับปกติในระยะเวลานานๆ จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ดังนี้ (พัทธนันท์ ศรีม่วง, 2555)

  1. ปัสสาวะมากและบ่อย ในผู้ป่วยเบาหวานเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความสามารถในการทำงานของไตจะมีการทำงานหนักขึ้นเมื่อมีการปัสสาวะบ่อยครั้งทำให้สูญเสียน้ำจึงเกิดอาการปัสสาวะบ่อยกว่าคนปกติทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน
  2. สายตาพร่ามัว การที่เกิดอาการสายตาพร่ามัวในผู้ป่วยเบาหวานนั้นเกินขึ้นได้ หลายสาเหตุ เช่นมีน้ำตาลในเลือดสูงหรือจอตาผิดปกติจากโรคเบาหวาน
  3. กระหายน้ำบ่อย ดื่มน้ำมากๆซึ่งเกิดจากร่างกายสูญเสียน้ำมากจากทางปัสสาวะ
  4. มีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น หิวบ่อย รับประทานอาหารได้มากขึ้นและรับทาน ได้จุขึ้น
  5. เป็นแผลเรื้อรัง มีการติดเชื้อที่ผิวหนัง ถ้าเกิดมีแผลจะหายได้ยากมีการติดเชื้อ ตามผิวหนัง มีสาเหตุมาจากน้ำตาลในเลือดสูงทำให้ความสามารถของเม็ดเลือดขาวลดลงใน การกําจัดเชื้อโรค
  6. ปวดและซาตามมือและเท้า เนื่องจากน้ำตาลในเลือดสูงทำให้เส้น ประสาทที่ไปเลี้ยงระบบประสาทส่วนปลายต่างๆทำงานได้ไม่ดี เกิดแผลได้ง่ายเพราะมีอาการชาไม่รู้สึก

การตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากงดอาหารแล้ว 8 ชั่วโมงสูงกว่า 126 mg/dL ระดับน้ำตาลสะสมหรือน้ำตาลแฝง HbA1c ถ้าสูงกว่า 6.5% ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน ถ้าสูงกว่า 5.7–6.4 % ถือว่าเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานโดยเป้าหมายส่วนใหญ่ผู้ป่วยควรมีการควบคุมระดับน้ำตาลใน เลือดและควบคุมน้ำหนักตัว น้อยกว่า 7% การทดสอบน้ำตาลด้วยการตรวจ Oral glucose tolerance test จะให้การวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานเมื่อระดับน้ำตาลหลังจากดื่มน้ำตาลไปสองชั่วโมง สูงกว่า 200 mg/dL (วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า, 2558)

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน

  • ภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลัน (Acute complications)
  1. ภาวะเลือดเป็นกรดเนื่องจากสารคีโตน (Diabetic Ketoacidosis : DKA) เนื่องจากร่างกายใช้พลังงานจากกลูโคสไม่ได้จึงจำเป็นต้องใช้พลังงานจากไขมันทำให้เกิดสารคีโตนคั่ง ในกระแสเลือดเกิดภาวะกรดที่เรียกว่า “ketoacidosis” ภาวะแทรกซ้อนนี้จะเกิดขึ้นในผู้ป่วย เบาหวานชนิดที่ 1 เมื่อควบคุมโรคไม่ได้คือมีระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สาเหตุที่พบบ่อยคือ ความเครียดจากการติดเชื้อหรือการผ่าตัด ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะบ่อย หายใจหอบ ลึกและอาจหมดสติ มีกลิ่นเหงื่อและลมหายใจจะมีกลิ่นคล้ายผลไม้
  2. หมดสติจากภาวะกลูโคสในเลือดสูง (Hyperglycemia) เกิดจากการที่ร่างกาย ของผู้ป่วยเบาหวานมีระดับกลูโคสในเลือดสูงมาก (มากกว่า 600 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ระดับกลูโคส ในเลือดที่สูงมากจะทำให้มีการดึงน้ำออกจากเซลล์เป็นผลให้เซลล์ขาดน้ำอย่างรุนแรง พบในผู้ป่วย เบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งร่างกายสามารถสร้างอินซูลินได้แต่มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ พบใน ผู้ป่วยเบาหวานวัยกลางคนหรือสูงอายุหากควบคุมระดับกลูโคสในเลือดไม่ดีจะมีอาการผิดปกติ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน โดยมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ซึม และอาจหมดสติได้
  3. หมดสติจากน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) เกิดในภาวะที่ร่างกายมี ระดับกลูโคสในเลือดต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เกิดในผู้ป่วยที่รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ออกกําลังกายหรือทำงานหนักเกินไป และการกินยาเกินขนาดหรือในปริมาณที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ผู้ป่วยมักมีอาการเหงื่อออกท่วมตัว ตัวเย็น ใจสั่น ปวดศีรษะ ตาลาย หน้ามืด หงุดหงิด หน้าซีดและ หมดสติในที่สุด
  • ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง (Chronic complications)
  1. ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท (Diabetic neuropathy) โรคเบาหวานมี ผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนปลายทั้งในด้านการเคลื่อนไหวและการรับความรู้สึก จากการอุดตัน ของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาท ส่งผลให้เกิดอาการชาและหลอดเลือดอุดตันตามแขนขาและ เกิดการติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้ การติดสุรา และยาต่างๆ ยังเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ทางระบบประสาทได้
  2. ภาวะแทรกซ้อนทางตา (Diabetic retinopathy) กลไกการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางตาคือ มีความผิดปกติในการทำงานของระบบหลอดเลือดฝอยของเรตินา (retina) ทำให้เกิดการบางและโป่งพองของหลอดเลือดและมีการอุดตันของหลอดเลือดฝอยจนทำให้เกิดอาการ ตามัวไปจนถึงอาการตาบอดได้
  3. ภาวะแทรกซ้อนของไต (Diabetic nephropathy) ในผู้ป่วยเบาหวานจะไม่มี อาการผิดปกติในระยะแรก แต่จะพบปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะเพิ่มสูงขึ้น มีความดันโลหิตสูง และการทำงานของไตลดลงจนไปถึงภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุด การเปลี่ยนแปลงของไตใน ผู้ป่วยแต่ละรายเกิดขึ้นตั้งแต่ระยะแรกที่ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน การเปลี่ยนแปลงนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของ โรคเบาหวาน กรรมพันธุ์ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และการควบคุมระดับความดันโลหิต
  4. ภาวะแทรกซ้อนต่อระบบหลอดเลือด ความผิดปกติของหลอดเลือดในผู้ป่วย เบาหวานเกิดได้ทั้งระบบหลอดเลือดใหญ่และหลอดเลือดเล็กโดยพบว่า มีการหนาตัวของชั้นเนื้อเยื่อ ในหลอดเลือดฝอย ส่งผลต่อระบบเมตะบอลิซึมและการทำงานของเซลล์ในระบบหลอดเลือดทำให้การ ทำงานของระบบหลอดเลือดผิดปกติ

การวินิจฉัยโรคเบาหวาน

วิธีการวินิจฉัยโรคเบาหวาน มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น อาการ ประวัติส่วนตัว ประวัติครอบครัว และ ปัจจัยเสี่ยง วิธีการวินิจฉัยที่พบบ่อย ได้แก่

1. การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด:

  • การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบอดอาหาร (Fasting plasma glucose test — FPG): ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ค่าปกติควรน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL)
  • การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม (Random plasma glucose test — RPG): ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดได้ทุกเวลา ค่าปกติควรน้อยกว่า 120 mg/dL
  • การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด 2 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารกลูโคส 75 กรัม (Oral glucose tolerance test — OGTT): ดื่มสารละลายกลูโคส 75 กรัม และ ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด 2 ชั่วโมงหลังดื่ม ค่าปกติควรน้อยกว่า 140 mg/dL

2. การตรวจวัดระดับฮีโมโกลบิน A1c (HbA1c):

  • เป็นการตรวจวัดค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือดย้อนหลัง 2–3 เดือน
  • ค่าปกติควรน้อยกว่า 5.7%

3. การตรวจหาคีโตนในปัสสาวะ:

  • คีโตนเป็นสารเคมีที่ร่างกายผลิตขึ้นเมื่อไม่มีอินซูลินเพียงพอ
  • การตรวจพบคีโตนในปัสสาวะบ่งชี้ถึงภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงของโรคเบาหวาน

แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน หากผลการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหรือ HbA1c อยู่ในเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  • FPG ≥ 126 mg/dL 2 ครั้ง
  • RPG ≥ 200 mg/dL
  • OGTT 2 ชั่วโมงหลังดื่ม ≥ 200 mg/dL
  • HbA1c ≥ 6.5%

นอกจากนี้ แพทย์อาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน หากมีอาการของโรคเบาหวานรุนแรง เช่น กระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ อ่อนเพลีย รู้สึกหิวบ่อย ตาพร่ามัว หรือ มีแผลหายช้า

หากสงสัยว่าเป็นโรคเบาหวาน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย การวินิจฉัยและรักษาโรคเบาหวานตั้งแต่ระยะแรก จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงของโรคเบาหวานได้

อ้างอิง

  • เว็บไซต์ dmthai.org

Home

  • Diabetes Association of Thailand. (2017). Clinical practice guideline for diabetes 2017. Pathumthani: Romyen Media Company Limited

ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน was originally published in ckartisan on Medium, where people are continuing the conversation by highlighting and responding to this story.